สังคม Toxic กลายเป็นปัญหาคลาสสิคที่ทุกคนล้วนเคยเจอและหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังผจญภัยท่ามกลางความปั่นป่วนของคนเจ้าปัญหา และกำลังรับมือมลพิษทางความสัมพันธ์อย่างเหน็ดเหนื่อย ค้นพบวิธีเอาตัวรอด สร้างภูมิคุ้มกัน และหาทางออกในบทความนี้
Chancedee
เพ่งเล็งหาคนผิด จับผิดไม่วายเว้น
พูดจาระราน ใส่ความหาเรื่องกันตลอดเวลา
นินทาลับหลัง ต่อหน้าทำคุยกันดี
สอดรู้สอดเห็น ยุ่งทุกเรื่องส่วนตัวจนเกินพอดี
ฯลฯ
สังคมในที่ทำงาน เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของคนกลุ่มหนึ่งที่มาจากร้อยพ่อพันแม่ ถูกเลี้ยงดู ได้รับการอบรมที่ต่างกัน นอกจากนี้ผู้คนที่เติบโตกันมาอย่างแตกต่าง ล้วนแต่ต้องผ่านความหลากหลายเฉพาะบุคคลซึ่งล้วนแต่สร้างอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนขึ้นมา การปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกันจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หากต้องการให้สังคมนั้นสงบสุข แต่...ถ้ามีใครบางคนไม่คิดจะปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงอะไรเพื่อส่วนรวม เราจะทำอย่างไร ?
เริ่มต้นที่คำว่าสังคมก่อนเลย ถ้าคนเกินซัก 60% ในสังคมที่เราอยู่นั้น Toxic เกินสักครึ่งหนึ่ง เปลี่ยนที่ได้เลย ไม่มีเหตุผลให้ต้องทนอยู่ท่ามกลางความ Toxic การพยายามเปลี่ยนแปลงสังคมนั้น มันยิ่งใหญ่และใช้พลังมากเกินกว่าที่เราควรจะทำ แต่ถ้าคิดว่ายังอยู่ในระดับที่เรารับมือได้อยู่ มาลองจัดการกันดู!!
1.เริ่มจากการบอกอย่างตรงไปตรงมากับ “คนเจ้าปัญหา”
ไม่มีวิธีไหนจะชัดเจนตรงประเด็นเท่ากับการอธิบายอย่างตรงไปตรงมาอยู่แล้วว่า เราไม่ชอบอะไร โดยปกติองค์กรทั่วไปมักมีการ Feedback เรื่องการทำงานระหว่างกันในรูปแบบรายไตรมาส หรือรายปี เป็นโอกาสที่ดีที่เราไม่ควรพลาดโอกาสในการพูดออกไปว่า เราไม่ชอบ หรือหงุดหงิดใจกับปฏิสัมพันธ์หรือพฤติกรรมแบบไหน มีคนจำนวนไม่น้อยอยู่ในภาวะ “ไม่รู้ตัวว่าทำอะไรลงไป” หรือคิดน้อยไปหน่อย ว่าการกระทำอะไรสร้างความหงุดหงิดใจให้ผู้อื่น หากการอธิบายของเราทำให้เขาได้รับรู้ และปรับปรุงตัวได้ นั่นก็เป็นเรื่องที่ดีมาก
ที่สำคัญโปรดอย่าลืมว่าเราควร Feedback อย่างสร้างสรรค์ ไม่เริ่มต้นด้วยการด่า โดยควรจะเริ่มต้นประโยคเช่น “พี่น่ารักมากๆ เวลาพี่พูดแบบนี้” “ถ้าพี่อ่อนโยนขึ้นอีกสักนิดจะทำให้บรรยากาศของทีมอบอุ่นขึ้นมากๆ” การอธิบายว่าทำแบบไหนแล้วจะดีสามารถสร้างพลังบวกแทนที่จะด่าอย่างตรงไปตรงมาว่า คำพูดแย่ๆ ของเขามันทำร้ายทำลายผู้อื่นขนาดไหน และตอกย้ำ ชื่นชม บ่อยๆ เมื่อเขาแสดงสภาวะนั้นออกมา
2.ถ้าพูดไปแล้วอธิบายไปแล้วยังเหมือนเดิม...ให้เริ่มการ Sanction (ลงโทษ)
ก่อนที่เราจะไปถึงการลงโทษ เราควรย้ำเตือนเขาสักนิดเมื่อเขาหลุดทำตัวแย่ๆ ออกมา การปรับเปลี่ยนนิสัยเป็นเรื่องที่ต้องให้เวลา หากเราสัมผัสถึงความตั้งใจที่เขาจะปรับปรุงตัว เราจำเป็นต้องสนับสนุนและให้โอกาสเพื่อความสุขของสังคมในระยะยาว แต่ถ้าดูแล้วยังคงจงใจจะทำตัวเช่นนั้น มาตรการลงโทษประเภท อารยขัดขืน คือทางเลือกหนึ่งที่ดี เช่น การปฏิเสธอย่างตรงไปตรงมา หรือการขัดขืนเพื่อให้เขาทราบว่า การกระทำนั้นไม่เหมาะสมหรือไม่ถูกต้องและเขาจะต้องโดนเมิน อย่าได้ปล่อยผ่านหรือทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นและทนรับต่อไป เพราะจะทำให้เขารู้สึกว่า สิ่งนั้นทำได้ไม่ผิดอะไร เมื่อเขาเริ่มรู้สึกตัวแล้วการอธิบายซ้ำตามข้อ 1 คือสิ่งที่ควรกระทำซ้ำอีกสักครั้ง
3.หากเราแก้ไขด้วยตนเองไม่ได้...ให้ขอความช่วยเหลือ
ไม่ว่าจะเป็นผู้มีอำนาจทางตรงหรือผู้มีอิทธิพลโดยอ้อม เราสามารถขอความช่วยเหลือได้ทั้งสิ้น หาก “คนเจ้าปัญหา” สร้างผลกระทบที่รุนแรงทั้งการทำงานหรือจิตใจให้กับเราและพยายามแก้ไขปัญหาด้วยตนเองแล้วแต่ไม่สามารถทำได้ การไปกระซิบบอกคนที่มีอิทธิพลต่อ “คนเจ้าปัญหา” หรือฝ่ายบุคคล ย่อมเป็นสิ่งที่ทำได้ เพื่อขอแรงในการไป Feedback ให้เขาปรับปรุงตัวและแก้ปัญหาร่วมกันเรา โปรดระลึกไว้ว่า ถ้าผู้มีอำนาจทางตรงหรือผู้มีอิทธิพลโดยอ้อมเพิกเฉย หรือไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องพวกเรา เราควรพิจารณาว่าองค์กรแห่งนี้มีคุณค่าพอให้เราทำงานด้วยหรือไม่
4.เมื่อพยายามทุกวิถีทาง 1-3 แล้ว “คนเจ้าปัญหา” ยังคงทำเหมือนเดิม เราควร...ลาออก
การลาออกไม่ใช่การยอมแพ้ แต่คือการนำพาตัวเองไปสู่ที่ ๆ ดีขึ้น เราไม่ควรจมอยู่กับปัญหาและความทุกข์ที่เราแก้ไขไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การลาออกควรเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะแม้เราจะเปลี่ยนที่ทำงานก็ไม่ได้เป็นสิ่งรับประกันว่าที่ใหม่จะสดใสซาบซ่าหรือว่าจะไม่เจอคนประเภทนี้อีก
แม้ว่าความ Toxic จะเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกแต่การมีภูมิคุ้มกันภายในด้วยต้วเราเองยังคงเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อเรามีวิธีคิดหรือภูมิคุ้มกันทางใจ เราจะสามารถปล่อยวางหรือจัดการความรู้สึกเหล่านี้ได้ดีขึ้น เหล่า Grower ควรระลึกถึงเรื่องเหล่านี้อย่างเสมอๆ
1.สังคมการทำงาน คือพื้นที่แห่งหนึ่งและผู้คนกลุ่มหนึ่งที่มารวมกันเพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกัน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตที่สามารถเปลี่ยนแปลง ปรับเปลี่ยนได้อยู่เสมอ ๆ ทั้งตัวเราเองและเพื่อนร่วมงาน เราอาจจะย้ายที่ทำงานได้ เพื่อนร่วมงานก็ย้ายที่ทำงานได้ ดังนั้น อย่าได้ยึดถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของชีวิต แต่ต้องพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ อะไรที่ดีก็มีความสุข อะไรที่ทุกข์ก็วางทิ้งไป อย่าได้เก็บกลับมาใส่ในชีวิตส่วนตัวด้านอื่นๆ
2.ทุกคนในสังคมการทำงานล้วนเป็นมนุษย์เหมือนกัน เท่าเทียมกัน แม้จะมีบทบาทสูงกว่า หรือต่ำกว่า นั่นคือบทบาทตามหน้าที่ไม่มีใครเป็นคนที่พิเศษ หรือวิเศษ สูงส่งกว่าใคร อย่าได้เสียใจ โศกเศร้าจนเกินไป หากเราได้รับความ Toxic จากคนเหล่านั้น แต่จงเข้าใจว่า ยาพิษที่ “คนเจ้าปัญหา” เที่ยวมอบให้ผู้อื่น หากไม่มีใครรับเขาก็ต้องเก็บกลับไปเอง ความเจ็บปวดมักเกิดจากเราเก็บมารู้สึก ถ้าเราเข้าใจว่าเขาเป็นคนแบบนี้หละ สิ่งที่เขาทำ เขาพูดนั้น ไร้ค่า ไร้ราคา อย่าไปถือสาหรือเก็บมาใส่ใจ มองให้เห็นเป็นอากาศธาตุ เราก็จะหลุดพ้นจากความรู้สึกแย่ๆ เหล่านั้นได้
3.เราควบคุมใครไม่ได้ แต่เราจัดการตัวเองได้ หากท้ายที่สุดแล้วเราแก้ไขอะไรไม่ได้ ให้แก้ปัญหาที่ตัวเอง จะทำความเข้าใจหรือจะย้ายที่ทำงาน นั่นก็เป็นสิ่งที่คุณเลือกได้ อย่าได้คิดเป็นอันขาดว่า...นี่คือเรื่องที่ใหญ่ที่สุดของชีวิต เพราะสังคมการทำงานไม่ใช่เพียงสังคมเดียวที่คุณมี ลองค่อยๆ ตั้งสติและมองหาสิ่งดี ๆ ที่ทำให้คุณอุ่นใจเมื่อได้นึกถึงจากสังคมอื่น ๆ ก็จะทำให้จิตใจคุณแข็งแรงขึ้นได้เช่นกัน
สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ “จงอย่าตอบโต้สิ่งเลวร้ายด้วยสิ่งที่เลวร้าย เพราะนั่นจะทำให้โลกใบนี้มีคนไม่น่ารักเพิ่มขึ้นมาอีกคน”
สังคมที่ดีเริ่มต้นที่ตัวเรา...มาเริ่มสร้างสังคมดีๆ กันเถอะ