เมื่อวัยทำงานอยากซื้อของขวัญให้ตัวเอง หนี้สินก้อนใหญ่ก้อนแรกของชีวิตส่วนใหญ่ มักไม่พ้น รถหรือบ้าน ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันเสมอว่า ควรซื้ออะไรก่อนดี บทความนี้จะบอกคุณให้รู้ถึงสิ่งที่ต้องพิจารณา ข้อควรระวัง และรายละเอียดหลังแคมเปญที่เซลล์ไม่เคยบอกคุณ
Chancedee
ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรเมื่อ Grower ทั้งหลายที่งานประจำเริ่มมั่นคงและตัดสินใจได้ว่าอยากเป็นหนี้ก้อนแรกเพื่อความสุข ความสะดวก หรือเป็นเครื่องหมายแห่งความสำเร็จอะไรก็แล้วแต่ที่จะคิด
"บ้านและรถเป็นสองสิ่งที่ถูกถกเถียงกันเสมอมา ต่างขิงใส่กันไปมาระหว่างสองแนวคิดว่าใครดีกว่ากันทั้ง ๆ ที่บนความเป็นจริงแล้วเรื่องนี้ไม่มีใครผิดหรือถูก แต่ขึ้นกับบริบทและเงื่อนไขรายบุคคล มาดูกันว่าก่อนตัดสินใจเราควรรู้อะไรบ้าง"
ทั้งบ้านและรถต่างถือได้ว่าเป็นสินทรัพย์ แปลเข้าใจง่าย ๆ ก็คือสิ่งที่มูลค่าขายต่อได้ แต่ความแตกต่างกันอย่างหนึ่งคือ รถมีค่าเสื่อมมากกว่าบ้าน (ในหลักการ) นั่นคือเมื่อเราใช้ไปในระยะเวลาหนึ่ง รถจะมีมูลค่าลดลงได้ราวๆ 50 - 60 % ในขณะที่บ้านรวมถึงคอนโดในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ มีความเชื่อกันว่ามูลค่าจะเพิ่มขึ้นตามราคาที่ดิน (แต่!!ในความเป็นจริงในสถานการณ์หลังวิกฤตโควิดเป็นต้นมา ราคาบ้านและที่ดินขยับขึ้นน้อยมากๆ ทำให้มูลค่านั้นเพิ่มขึ้นไม่มากนักในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาบางแห่งมีมูลค่าเท่าเดิม หรือลดลงเมื่อต้องขายต่อโดยเฉพาะคอนโด เนื่องจากเกิดสภาวะคอนโดล้นตลาด)
บ้านเป็นหนี้สินระยะยาวถ้าเราไม่มีเงินถุงเงินถัง โปะหนี้สินเข้าไปในทุกปี โดยระยะเวลากู้ของบ้านโดยส่วนใหญ่ให้อายุไม่เกิน 60 ปี (หรือ 70 ปีสำหรับบธนาคารของรัฐบางแห่ง) นั่นหมายความว่าโอกาสที่จะเป็นหนี้สินของเราเกิดขึ้นได้ราวๆ 30-40 ปี ในขณะที่รถ เมื่อเรากู้สถาบันการเงิน ระยะเวลาการเป็นหนี้สินจะอยู่ที่ 5-7 ปีไม่เกินกว่านี้ นั่นหมายความว่าเราจะถูกดึงกระแสเงินสดออกจากเงินเดือนต่อเนื่องระยะยาว หากเรามีความจำเป็น หรือต้องการลงทุนใดๆ ในการทำธุรกิจจะทำให้เงินสดขาดมือทันที
มีเต้นท์รถมากมายที่คุณสามารถขับรถเข้าไปแล้วตีราคาขายต่อได้ทันที จะปลดภาระสถาบันการเงินหรือขายต่อแบบปลอดภาระก็ทำได้โดยเร็ว ในขณะที่การขายบ้านมีความซับซ้อนมากกว่า ผู้ซื้อบ้านมีระยะการตัดสินใจที่ยาวนานกว่าและคิดเยอะกว่าการซื้อรถเนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่มีระยะการเป็นหนี้สินยาวนานจึงมีสภาพคล่องต่ำกว่า
รถมีค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองคือค่าน้ำมัน และค่าบำรุงรักษาทั้งตามรอบการเช็คระยะอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง และอุปกรณ์ส่วนควบหลายอย่างที่มีอายุการใช้งานเช่น การเปลี่ยนยางทุก 2-3 ปี แบตเตอรี่ 1-2 ปี ยางปัดน้ำฝนและซีลยางต่างๆ เป็นต้น ซึ่งอยู่นอกเหนือรายการเช็คระยะ ในขณะที่บ้านก็มีรายการที่ต้องซ่อมบำรุงและค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ฉีดปลวก น้ำรั่วจากการแตกร้าว ซิลิโคนยาแนวที่เสื่อมสภาพในระยะเวลา 3-5 ปี พื้นทรุด สวนทรุด ประตูกลางแจ้งที่ต้องทาสีหรือเชื่อมเหล็กเมื่อผุ แม้กระทั่งค่าใช้จ่ายตอนรีไฟแนนซ์หลักหลายหมื่นบาท ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นค่าใช้จ่ายที่มองเห็นแต่คนอยากซื้อมักมองข้าม และคิดว่าสามารถจัดการได้
1.เราซื้อสินทรัพย์นั้นเพื่ออะไร
ถ้าคุณตั้งใจจะซื้อสินทรัพย์นั้นเพื่อลงทุน ตัดเรื่องซื้อรถไปได้เลยถ้าคุณไม่ใช่นักสะสมรถยนต์คลาสสิค หรือรถหรู ที่มีเงินถุงเงินถังซื้อได้โดยไม่ต้องคิดมากการลงทุนด้วยการซื้อรถยนต์นั้นไม่ควรอย่างยิ่งในการเป็นหนี้ก้อนแรก ส่วนบ้านนั้นเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่คุณจะใช้มันลงทุนได้ ถ้าคุณมีความรู้หรือความเชี่ยวชาญมากพอ
แต่หากคำตอบข้อนี้ของคุณคือซื้อเพื่ออยู่อาศัยหรือใช้งานคุณควรพิจารณา Lifestyle และความจำเป็นของคุณอย่างรอบด้านเสียก่อน อาทิ คุณพักอาศัยอยู่กับครอบครัว ไม่มีปัญหาเรื่องที่พักแต่ยังขาดรถ ที่ใช้อำนวยความสะดวก การซื้อรถของคุณก็อยู่ภายใต้ความเหมาะสมและจำเป็นหาก Lifestlye ของคุณจำเป็นต้องใช้รถยนต์ ไม่สามารถเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพได้ ในทางกลับกันหากคุณพักอาศัยในพื้นที่ใจกลางเมือง รายล้อมด้วยถนนที่รถติดและการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า และคุณเองก็ชื่นชอบการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเป้นปกติ การซื้อรถของคุณอาจจะกลายเป็นภาระส่วนเพิ่ม ทั้งการเงินและการเดินทางก็เป็นได้เช่นกัน
แต่ถ้าคุณอยากมีบ้านหรือคอนโดเพื่อพักอาศัย คุณเองต้องคำนึงถึงความสะดวกและอรรถประโยชน์ที่เหมาะกับ Lifestlye ของคุณ เช่น การซื้อบ้านหลังแรกที่อยู่ห่างไกล ที่ทำงาน หรือพื้นที่การใช้ชีวิตของคุณ เพราะเงื่อนไขเรื่องงบประมาณ ทำให้คุณต้องใช้เวลาชีวิต ในการเดินทางไกลขึ้น นานขึ้น และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น สิ่งจะสร้างปัญหาให้กับคุณในระยะยาวแน่นอน การมีที่พักของคุณเอง ควรจะสนับสนุนให้ Lifestlye ของคุณสะดวกสบายขึ้น ไม่ใช่เพิ่มภาระทั้งการเงินและการใช้ชีวิตเพิ่ม
2.เรามีเงินสดหมุนเวียนเพียงพอหรือไม่
ทั้งการซื้อบ้านและรถล้วนมีค่าใช้จ่ายที่มองเห็นแต่เรามักมองข้ามในเวลาที่อยากได้ ค่าซ่อมบำรุง ค่าใช้จ่ายสิ้นเปลือง ค่างวดแต่ละเดือน คุณต้องตั้งสติคำนวนอย่างดี และห้ามหวังน้ำบ่อหน้า เช่นว่า ปีนี้เงินจะตึงมือสักหน่อย ปีหน้าได้ขึ้นเงินเดือนแล้วน่าจะสบายขึ้น เพราะอะไรที่ยังมาไม่ถึงล้วนแต่ไม่สามารถวางใจได้ ถ้าการมีสินทรัพย์ (ซึ่งในความเป็นจริงแล้วยังเป็นของสถาบันการเงินที่ให้เรากู้จนกว่าเราจะผ่อนชำระหมด) ทำให้เราไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข เช่น มีรถ แต่ไม่มีเงินเติมน้ำมัน จะไปต่างจังหวัดตามที่วาดฝันไว้ ก็เครียดเพราะค่าใช้จ่าย ก็ควรจะหักห้ามใจเสียก่อน
หากทั้ง 2 เรื่องนี้ทำให้คุณรู้สึกคิดไม่ตก หรือถ้าคุณตอบคำถามได้อย่างยากลำบากนั่นแปลว่า “คุณยังไม่ควรมีภาระอะไรทั้งนั้น”
1.ซื้อดีกว่าเช่า จะจ่ายค่าเช่าไปเพื่ออะไร ในเมื่อจ่ายค่างวดพอๆ กับค่าเช่า - ค่าเช่าคือค่าใช้จ่ายที่จ่ายแล้วจบ คุณจะยกเลิกสัญญา จะย้ายที่ จะจ่ายเพิ่มหรือจ่ายลดลงในที่ใหม่ คุณสามารถทำได้ตลอดเวลา ในขณะที่เมื่อคุณซื้อเป็นของตัวเอง คุณจะเจอค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ตามมา ค่าซ่อมบำรุง ค่ารีไฟแนนซ์ ค่างวด ค่าข้าวของเครื่องใช้ที่คุณต้องซื้อเข้าห้อง ค่าส่วนกลาง และคุณต้องจ่ายต่อเนื่อง 20-30 ปี ไม่สามารถยุติการจ่ายได้แบบค่าเช่า
2.ซื้ออสังหา ได้เงินทอน เหลือไปใช้ทำอย่างอื่น - เงินที่ได้ไม่ใช่เงินทอน แต่เป็นเงินกู้!! ที่ให้คุณเพียงครั้งเดียว แต่คุณต้องผ่อนชำระคืนอีกหลายสิบปี ที่สำคัญ อสังหาประเภทเอาเงินทอนมาเป็นจุดขายนี้ มักขายต่อได้ยากมาก เพราะคนการจูงใจด้วยเงินทอน แสดงว่าอสังหานั้น ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดเท่าไหร่นัก
3.ซื้อเก็บไว้ตอนขายยังไงก็ราคาขึ้น - ที่ดินมีราคาขึ้นเป็นเรื่องจริง แต่ขึ้นมากขึ้นน้อย ขึ้นอยู่กับทำเลและความปริมาณความต้องการ ไม่ใช่ทุกที่ของอสังหาที่ขายแล้วจะได้กำไร ที่สำคัญคือ อย่าลืมว่า ดอกเบี้ยเงินกู้ที่คุณจ่ายไปทุกปี (หลายหมื่นบาทและอาจจะถึงหลักแสน) เป็นหนึ่งในต้นทุนส่วนเพิ่ม หากราคาที่ขึ้นมาไม่มากกว่าดอกเบี้ยที่จ่ายไป...นั่นคือขาดทุน
4.ดอกเบี้ย 0% - ไม่มีดอกเบี้ย 0% จริงๆ บนโลก ถ้าเป็นรถ ดอกเบี้ยนั้นถูกกระจายลงค่างวดไปหมดแล้ว ถ้าเป็นอสังหา ดอกเบี้ยนั้นคุณจะได้ระยะสั้นมากๆ และหลังจากนั้นจะเป็นการเอาคืนจากผู้ให้กู้
เมื่อคุณได้รู้ข้อดีข้อเสียในการเป็นหนี้บ้าน หรือหนี้รถแล้ว ถึงเวลาที่เหล่า Grower จะบอกตัวเองแล้วว่าจะเลือกอะไร ที่สำคัญอย่าลืมนะว่า เราเลือกที่จะไม่ซื้ออะไรเลยก็ได้เช่นกัน :P